วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต
บทบาทของกองทัพไทยในการจัดการป่าไม้ในสมัยสงครามเย็น พ.ศ. 2502-2534
โดย ธนวัฒน์ รุ่งเรืองตันติสุข
ดาวน์โหลดได้ที่ http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:179086

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาบทบาทของกองทัพไทยในการจัดการป่าไม้ในสมัยสงครามเย็น พ.ศ.2502-2534 เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่กองทัพเริ่มต้นบทบาทการจัดการป่าไม้อย่างกว้างขวาง ทั้งที่มิใช่บทบาทของกองทัพ โดยวิทยานิพนธ์ฉบับนี้จะให้ความสำคัญต่อประเด็นเรื่องสถานการณ์ของสงครามเย็นที่ส่งผลให้กองทัพมีบทบาทในการจัดการป่าไม้อย่างกว้างขวาง วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เสนอว่า สถานการณ์ของสงครามเย็นในช่วงทศวรรษ 2500 ได้ส่งผลให้แนวนโยบายการพัฒนาประเทศกลายมาเป็นเป้าหมายด้านความมั่นคงที่สำคัญของรัฐ กองทัพไทยซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้ความสำคัญต่อบทบาทการรักษาความมั่นคงภายใน ได้รับมอบหมายภารกิจการดำเนินยุทธศาสตร์พัฒนาในพื้นที่ป่าไม้โดยเฉพาะการสร้างถนนและการจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรเพื่อลดการขยายฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ซึ่งมักตั้งอยู่ตามป่าเขา โดยในช่วงทศวรรษ 2520 กองทัพจะยิ่งให้ความสำคัญต่อภารกิจดังกล่าวมากขึ้นเมื่อกองทัพได้ให้ความสำคัญต่อนโยบายการเมืองนำการทหาร หรือการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์แทนที่การใช้กำลังทหารปราบปรามซึ่งไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2516-2520 จนกระทั่งสถานการณ์ของสงครามเย็นใกล้จะสิ้นสุดลงในช่วงปลายทศวรรษ 2520-ต้นทศวรรษ 2530 กองทัพซึ่งหมดความจำเป็นที่จะปฏิบัติภารกิจภายในประเทศ ก็ได้ขยายบทบาทการจัดการป่าไม้มาสู่เรื่องของการอนุรักษ์ โดยกองทัพให้เหตุผลว่าบทบาทดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับความมั่นคงใหม่ของรัฐ นอกจากนั้น กองทัพยังสามารถฉวยโอกาสในการแสวงหาผลประโยชน์จากโครงการอนุรักษ์ป่าไม้ได้ อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการดำเนินโครงการ กองทัพก็ได้เริ่มอพยพราษฎรออกจากพื้นที่ป่าไม้ เนื่องจากกองทัพมีความคิดเห็นว่าราษฎรเหล่านี้เป็นอุปสรรคในการดำเนินโครงการ ทั้งที่ในสมัยที่กองทัพทำสงครามต่อต้าน พคท. กองทัพคือแกนนำในการส่งเสริมให้ราษฎรบุกเบิกที่ดินทำกินในพื้นที่ป่าไม้เพื่อลดการขยายฐานที่มั่นของ พคท.