วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต ปี 2530
การศึกษาของสตรีไทย: ศึกษากรณีเฉพาะของโรงเรียนราชินี (พ.ศ.2447-2503)
โดย ยุพาภรณ์ แจ้งเจนกิจ
ดาวน์โหลดได้ที่ https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:140422

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาปัญหาสำคัญ 4 ประเด็น ประเด็นแรกคือ สาเหตุที่มีอิทธิพลต่อการจัดตั้งโรงเรียนราชินี ประเด็นที่สองคือ พัฒนาการการจัดการศึกษาของโรงเรียบราชินี พ.ศ. 2447 - 2503 ประเด็นที่สามคือ ภูมิหลังของนักเรียน และประเด็นสุดท้ายเป็นการสำรวจบทบาทของผู้ที่ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนราชินีที่มีต่อวงการต่าง ๆ

แนวความคิดที่ใช้ในการศึกษาปัญหาดังกล่าวคือ กระทรวงศึกษาธิการได้อาศัยโรงเรียนราชินีเป็นตัวอย่างเพื่อการแสวงหารูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับสตรี ดังนั้นพัฒนาการการจัดการศึกษาของโรงเรียนราชินีจึงถูกกำหนดด้วยโครงการศึกษาแห่งชาตินอกเหนือจากปัจจัยภายในโรงเรียนเอง

จากการศึกษาพบว่าในระยะแรกรัฐบาลยังไม่ทุ่มเทงบประมาณในการจัดการศึกษาสำหรับสตรีมากนัก แต่มองเห็นความสำคัญของการตั้งโรงเรียนสตรีด้วยการจัดการและการบริหารของคนไทยเอง ประกอบกับในเวลานั้นโรงเรียนราชินีซึ่งได้รับการจัดตั้งจากบุคคลที่มีชื่อเสียงและมีบารมี ทำให้ประชาชนนิยมส่งบุตรหลานมาศึกษาเล่าเรียน รวมทั้งโรงเรียนแห่งนี้มีเงินทุนการศึกษามากพอที่จะสนับสนุนการบริหารการเรียนการสอนให้เจริญทัดเที่ยมกับโรงเรียนในต่างประเทศได้นอกจากนี้การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนราชินีก็พยายามผสมผสานระหว่างวิทยาการตะวันตก กับเอกลักษณ์ของไทยเข้าด้วยกัน เพื่อมิให้ขาดด้านใดด้านหนึ่งดังที่ได้ปรากฏในโรงเรียนสตรีอื่น ๆ ที่จัดตั้งขึ้นก่อนหน้านี้ ดังนั้นรัฐบาลจึงให้ความสนับสนุนโรงเรียนราชินี โรงเรียนราชินีจึงเป็นโรงเรียนสตรีที่เด่นที่สุด (ในยุคสมัยนั้น)

โรงเรียนราชินีได้ทำการทคลองหลักสูตรและจัดกิจกรรมพิเศษทางการศึกษาที่รัฐบาลจัดไว้ในหลักสูตรการศึกษาสำหรับสตรีหลายครั้งด้วยกัน ได้แก่ การทดลองหลักสูตรมัธยมพิเศษในพ.ศ. 2451 การทดลองหลักสูตรวิชาชีพใน พ.ศ. 2454-2481 การทดลองนโยบายออมทรัพย์ใน พ.ศ. 2456 การทดลองนโยบายอนุกาชาดใน พ.ศ. 2465 การทดลองนโยบายอนามัยพิทักษ์ใน พ.ศ. 2468-2472 และการตั้งแผนกอนุบาลเพื่อเป็นตัวอย่างใน พ.ศ. 2466 พัฒนาการจัดการ ศึกษาของโรงเรียนราชินีถูกกำหนดโดยโครงการศึกษาแห่งชาติ ตัวอย่างเช่น ใน พ.ศ. 2451 รัฐบาลมีความคิดจะให้สตรีได้รับการศึกษาในระดับมัธยมพิเศษ กระทรวงศึกษาธิการก็จัดให้โรงเรียนราชินีเปิดสอนระดับมัธยมพิเศษขึ้น หรือในสมัยรัชกาลที่ 6 รัฐบาลมีความคิดจะให้สตรีได้รับการศึกษา วิชาชีพ โรงเรียนราชินีจึงได้เริ่มทดลองตั้งแผนกการช่างขึ้นใน พ.ศ. 2454 และจัดการเรียนการสอนให้เป็นระบบใน พ.ศ. 2457 การจัดตั้งแผนกการช่างของโรงเรียนเป็นการตังขึ้นก่อนที่กระทรวงศึกษาธิการจะประกาศใช้โครงการศึกษา พ.ศ. 2456 ซึ่งเน้นการสอนให้ประชาชนมีความรู้ในการที่จะเลี้ยงชีพได้ โดยควรแก่อัตภาพของตน นอกจากนี้ปัจจัยภายในโรงเรียน เช่นการที่นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 6 หันมานิยมศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนในการกำหนดพัฒนาการการจัดการศึกษาของโรงเรียนราชินี

กล่าวได้ว่าโรงเรียนราชินีประสบความสำเร็จ เป็นสถานศึกษาที่เด่นหรือชั้นนำในสมัยนั้นได้อบรมสั่งสอนทั้งความรู้วิชาการ การฝึกอบรมความกล้าในการแสดงออก ฝึกความมีระเบียบวินัยและรู้จักระเบียบการปกครองฝึกหัดให้นักเรียนรู้จักบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม รวมทั้งยังได้อบรมหลักศีลธรรม จรรยา และวัฒนธรรมไว้ในจิตใจของนักเรียน โรงเรียนราชินีได้ผลิตนักเรียนออกสู่วงการต่าง ๆ มากมาย อาทิ วงการศึกษา วงการหนังสือ (นักประพันธ์และกวี) วงการกฎหมาย วงการการเมือง วงการสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น