วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต ปี 2531
บทบาทของพลเอกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทรต่อการแพทย์และสาธารณสุข
โดย สุรีรัตน์ สวัสดี
ดาวน์โหลดได้ที่ https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:138444

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้ มุ่งศึกษาบทบาทของสมเด็จฯ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ต่อการแพทย์และการสาธารณสุข ตั้งแต่ พ.ศ. 2456-2468

การแพทย์แผนตะวันตกได้เข้าสู่สังคมไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการแพทย์และสาธารณสุขของไทยในเวลาต่อมา ที่เห็นได้ชัดเจนคือมีการตั้งโรงพยาบาลศิริราชในปี พ.ศ. 2431 โรงเรียนแพทยากร ปี พ.ศ. 2433 และโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์ ในปี พ.ศ. 2339 ซึ่งล้วนแต่เป็นการจัดตั้งสถาบันที่เน้นการบำบัดรักษาตามแบบตะวันตก แต่ทว่าการแพทย์แบบโบราณก็ยังคงมีบทบาทในการรักษาพยาบาลในสังคม

เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ทรงเป็นผู้ตรวจการโรงเรียนแพทยาลัย ในปี พ.ศ. 2456 ดังนั้นท่านจึงทรงเป็นผู้เข้ามาเปลี่ยนแปลงการแพทย์และการสาธารณสุขขลงไทยให้ตั้งอยู่บนรากฐานของความเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น โดยทรงตัดหลักสูตรแพทย์แผนโบราณออกจากการศึกษาแพทย์ในขณะนั้น และทรงเป็นผู้วางรากฐานให้ความสำคัญของวิชาวิทยาศาสตร์ในการ ศึกษาวิชาแพทย์แต่นั้นมา อันเป็นการปูพื้นฐานแก่การปรับปรุงการศึกษาแพทย์ครั้งสำคัญของไทยให้เข้าสู่ระดับมาตรฐาน โดยการช่วยเหลือของมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ในปี พ.ศ. 2466 นอกจากนี้ยังทรงเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่ออาชีพแพทย์และพยาบาล อันมีผลต่อการขยายตัวด้านอาชีพและบทบาทของแพทย์และพยาบาลในสังคมปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังทรงมีบทบาทในด้านการสาธารณสุข กล่าวคือ ทรงเป็นผู้ริเริ่มและวางโครงงานของกรมสาธารณสุข ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2461 อันเป็นการทำให้การสาธารณสุขของไทยมีมาตรฐานเทียบเท่าอารยประเทศ สิ่งสำคัญทีสุที่พระองค์ทรงวางรากฐานแก่การสาธารณสุขของสังคมไทยคือ การสร้างจิตสำนึกใหม่แก่ประชาชนในเรื่องสาธารณสุขที่จะต้องกำนึง ถึงหลักการใหญ่ ๆ 3 ประการ คือ 1. การบำบัดรักษา 2. การป้องกันโรค 3. การส่งเสริม สุขภาพอนามัย เนื่องจากทรงเห็นว่า การสาธารณสุขจะสำเร็จและมีประสิทธิภาพดีขึ้นนั้น ต้องอาศัยความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของประชาชน พระองค์จึงริเริ่มให้มีการเผยแพร่ความรู้ด้านสาธารณสุขด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งในการศึกษาระดับโรงเรียน เช่น การกำหนดแนวการศึกษาด้านสาธารณสุขลงในหลักสูตรวิชาสุขศึกษามากขึ้น สำหรับด้านประชาชนก็เผยแพร่ความรู้ด้วยวิธีการออกหนังสือ แถลงการณ์สาธารณสุข และการเสนอบทความเกี่ยวกับความรู้และการป้องกันโรคภัยทางสถานีวิทยุอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นกล่าวได้ว่า สมเด็จฯ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ทรงเป็นผู้มีบทบาทในการสร้างรากฐานความเจริญด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้แก่สังคมปัจจุบัน