วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต ปี 2542
ตำราพระราชพิธีสมัยรัชกาลที่ 4-5 (พ.ศ. 2394 – 2453)
โดย โดม ไกรปกรณ์
ดาวน์โหลดได้ที่ https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:117828
บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะอธิบายลักษณะความรู้ในตำราพระราชพิธีสมัยรัชกาลที่ 4-5 (พ.ศ. 2394-2453) โดยมีกรอบการอธิบายถึงพัฒนาการของจารีตการเขียนตำราพระราชพิธีตั้งแต่ก่อนสมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4-5 บริบทของการสร้างตำราพระราชพิธี ลักษณะความรู้ในตำราพระราชพิธี และความสำคัญของตำราพระราชพิธีสมัยรัชกาลที่ 4-5
จากการศึกษาพบว่า ตำราพระราชพิธีสมัยรัชกาลที่ 4-5 เป็นตำราความรู้ที่สร้างขึ้นด้วยจารีตการพิมพ์แบบตะวันตก เพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องพระราชพิธีในวงกว้าง ขณะที่ตำราพระราชพิธีในช่วงก่อนหน้าเป็นตำราที่สร้างด้วยจารีตการเขียน/คัดลอก โดยเก็บรักษาไว้ในที่ ๆ คนทั่วไปเข้าถึงได้ยากทำให้ตำราพระราชพิธีก่อนสมัยรัชกาลที่ 4 เผยแพร่ในวงจำกัด ทั้งนี้ เนื่องจากตำราพระราชพิธีสมัยรัชกาลที่ 4-5 ถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความสนใจเรื่องไทยของชาวตะวันตกและความสนใจของชนชั้นปกครองไทยสมัยนั้น อันเป็นผลจากการเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของชาติตะวันตกและความสำนึกทางประวัติศาสตร์ของชนชั้นบ่กครองไทยที่ต้องการรู้เรื่องราวของตน
ในส่วนของความรู้ในตำราพระราชพิธี ลักษณะความรู้ในตำราพระราชพิธีสมัยรัชกาลที่ 4-5 ได้เปลี่ยนแปลงจากลักษณะความรู้ในตำราพระราชพิธีก่อนหน้า ที่มุ่งอธิบายรายละเอียดขั้นตอนการประกอบพระราชพิธีที่สัมพันธ์อยู่กับจักรวาลทัศน์แบบไตรภูมิที่เป็นความคิดหลักของสังคม กล่าวคือความรู้เรื่องพระราชพิธีเป็นความรู้เรื่องแบบแผนการปฏิบัติตนของกษัตริย์ให้สัมพันธ์กับความคิดไดรภูมิ ทั้งนี้เนื่องจากตำราพระราชพิธีอยู่ในฐานะดำรารัฐประศาสนศาสตร์ของชนชั้นปกครองไปเป็นการอธิบายถึงเหตุผลที่มาของพระราชพิธีในลักษณะการอธิบายอย่างมีเหตุผลตามความเปลี่ยนแปลงด้านภูมิปัญญาของชนชั้นปกครองสมัยรัชกาลที่ 4-5 ที่สนใจศึกษาความรู้วิทยาการแบบตะวันตก ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการประกอบพระราชพิธีของรัฐซึ่งมีร่องรอยของวัฒนธรรมตะวันตก ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงพระราชพิธีให้มีความเหมาะสมกับบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ของรัฐ/กษัตริย์