วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต ปี 2542
การเปลี่ยนแปลงคติความเชื่อเรื่องเสาหลักเมืองสมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2325-2535
โดย พรพรรณ เกิดผล
ดาวน์โหลดได้ที่ https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:117804

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงของคติความเชื่อเรื่องเสาหลักเมืองในสมัยรัตนโกสินทร์ นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2325 จนกระทั่งถึงปีพ.ศ. 2535 ซึ่งสัมพันธ์อยู่กับสำนึกเรื่องอำนาจของชนชั้นนำไทยในขณะนั้น

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ประเภทลายลักษณ์อักษรแสดงให้เห็นว่าคติความเชื่อเรื่องเสาหลักเมืองปรากฏขึ้นครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ในฐานะเทพารักษ์ประจำเมือง ซึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นพระมหากษัตริย์ยังทรงไม่มีพระราชอำนาจเหนือดินแดนในพระราชอาณาจักรอย่างเต็มที่ ชนชั้นนำไทยนำเอาคติความเชื่อเรื่องเสาหลักเมืองมาใช้ในฐานะสัญลักษณ์ของอำนาจจากศูนย์กลางที่มีไปยังเมืองต่าง ๆ ด้วยการตั้งเสาหลักเมืองขึ้นเฉพาะในเมืองใหม่ที่มีความสำคัญทางด้านยุทธศาสตร์ในแต่ละรัชกาล ต่อมาเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงตระหนักถึงพระราชอำนาจที่ควรจะมีอย่างเต็มที่จึงมีการสร้างพระสยามเทวาธิราชขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อให้เป็นเทพารักษ์ที่มีอำนาจสูงสุดในรัฐไทย และการจัดการปกครองในระบบราชการแบบใหม่ขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อให้พระมหากษัตริย์สามารถปกครองเมืองที่อยู่ในพระราชอาณาจักรได้อย่างเต็มที่ อันส่งผลให้ชนชั้นนำไทยไม่ดำเนินการตั้งเสาหลักเมืองขึ้นในเมืองต่าง ๆ อีกต่อไป ถึงกระนั้นคติความเชื่อเรื่องเสาหลักเมืองก็ไม่ได้สูญหายไปจากรัฐไทยเนื่องจากชนชั้นนำไทยนำเอาคติความเชื่อเรื่องเสาหลักเมืองมาปรับใช้ในการแสดงถึงอำนาจจากส่วนกลางที่กระจายไปอยู่ตามเมืองต่าง ๆ ด้วยการยอมรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่ในเมืองต่าง ๆ ในฐานะหลักเมือง การตั้งเสาหลักเมืองได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งในฐานะตัวแทนอำนาจของส่วนกลางในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม หลังจากนั้นการตั้งเสาหลักเมืองก็ได้รับการปฏิบัติอยู่เรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบันเมื่อมีการประกาศให้ตั้งเสาหลักเมืองทั่วประเทศในปีพ.ศ. 2535