วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต ปี 2545
ก่อนจะถึง 14 ตุลาฯ : ความเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร (พ.ศ. 2506-2516)
โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ
ดาวน์โหลดได้ที่ https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:116421
บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาค้นคว้าเพื่ออธิบายเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จากแง่มุมทางการเมืองวัฒนธรรม โดยสนใจการเคลื่อนไหวทางความคิดของนักศึกษาและปัญญาชนภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหาร (ระหว่าง พ.ศ. 2506-2516) ว่าอะไรคือความคิดที่ผลักดันคนทั้งสองกลุ่มให้มีบทบาทตอบโต้ท้าทายอำนาจรัฐ กระบวนการและวิธีการรับความคิดเหล่านั้น เนื้อหาความคิดที่ก่อตัวขึ้น และกลวิธีแสดงความคิดเหล่านั้นสู่สาธารณะ
จากการศึกษาพบว่าในทศวรรษ 2500 นักศึกษาและปัญญาชนได้ก่อตัวขึ้นมาเป็นกลุ่มทางสังคมที่สำคัญทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ โดยเป็นผลพวงมาจากนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและนโยบายการศึกษาของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในแง่คุณภาพ ทั้งสองกลุ่มมีบทบาทเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของสังคม นักศึกษาและปัญญาชนจำนวนหนึ่งได้ก่อตัวเป็นเครือข่ายทางวาทกรรมแสดงความคิดแปลกใหม่หลากหลายผ่านสื่อสิงพิมพ์ที่พวกเขาจัดทำขึ้น ซึ่งทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลและทรรศนะป้อนให้เป็นวาทกรรมทางเลือกแก่สังคมที่ถูกครอบงำด้วยแหล่งข้อมูลข่าวสารของรัฐเผด็จการและสิ่งพิมพ์กระแสหลักในตลาด
ขบวนการนักศึกษาปัญญาชนก่อน 14 ตุลาคม 2516 ได้รับความคิดอุดมการณ์จากแหล่งสำคัญสองแหล่งคือ จากภายนอก (ต่างประเทศ) และจากภายใน (อดีต) ของสังคมไทยเอง ส่งผลให้พวกเขามีลักษณะหลากหลายทางอุดมการณ์ คือ เป็นทั้งชาตินิยม ซ้ายใหม่บวกซ้ายเก่าและกษัตริย์นิยม
ความเป็นชาตินิยมของขบวนการนักศึกษาปัญญาชนถูกกระตุ้นจากบริบทแวดล้อมทั้งการเมืองระหว่างประเทศและภายในประเทศ ที่รัฐบาลไทยร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอย่างลึกซึ้งทำสงครามอินโดจีนโดยไม่ประกาศ ชาตินิยมของพวกเขาจึงมีเนื้อหาต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกาที่มาตั้งฐานทัพและกำลังทหารในประเทศ และดึงไทยเข้าร่วมการรุกรานเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนพบว่าชาตินิยมทางเลือกของนักศึกษาปัญญาชน แท้จริงแล้วพัฒนาและหยิบยืมมาจากโครงสร้างชาตินิยมแบบราชการ หากแตกต่างกันในแง่องค์ประกอบเนื้อหา
สำหรับความเป็นซ้ายใหม่ พวกเขาได้รับอิทธิพลจากกระแสความคิดในสหรัฐฯและยุโรป ผ่านนักเรียนนอกและสิ่งพิมพ์จากต่างประเทศ โดยต้องต่อสู้ช่วงชิงกับความหมายเชิงลบที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมชิงนิยามไว้ก่อน เนื้อหาซ้ายใหม่ที่นักศึกษาปัญญาชนไทยเลือกรับมาเน้นไปที่พลังการเมืองของคนหนุ่มสาวในการเปลี่ยนแปลงสังคม การกบฏต่อวัฒนธรรมและระบบสถาบันเก่าแบบอำนาจนิยม-ทุนนิยมรวมทั้งความเป็นไทยแบบอนุรักษ์นิยม การสนใจซ้ายใหม่กระตุ้นให้พวกเขาหันไปขุดค้นรื้อฟื้นความคิดและวรรณกรรมแนวสังคมนิยมของซ้ายไทยสมัยทศวรรษ2490 ผ่านตัวบุคคลของซ้ายไทยรุ่นนั้น ห้องสมุด และตลาดหนังสือเก่า มาเผยแพร่ ผลิตซ้ำและปรับใช้โดยวาทกรรมสังคมนิยมจากอดีตให้ทั้งแรงบันดาลใจและประสบการณ์ในการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ มันจึงมีส่วนในการก่อตัวของวาทกรรมต่อต้านเผด็จการทหารตั้งแต่ก่อน 14 ตุลาฯ มิใช่สิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาทีหลัง
สุดท้ายคือความเป็นกษัตริย์นิยม ซึ่งก่อตัวท่ามกลางกระแสยกย่องเชิดซูบทบาทสถาบันกษัตริย์ และความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างนักศึกษากับสถาบันในทศวรรษ 2500-2510พวกเขาหันกลับไปรื้อฟื้นอดีตและให้ความหมายใหม่แก่สถาบันกษัตริย์ว่า เป็นทั้งราชาชาตินิยมที่พาประเทศชาติพ้นจากการตกเป็นอาณานิคม และเป็นกษัตริย์ประชาธิปไตยที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงเกิดการหลอมรวมเป็นวาทกรรมราชาชาตินิยมที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่ง ถูกนำมาใช้เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ และวิพากษ์วิจารณ์ระบอบเผด็จการทหารที่ฉ้อฉล
แม้ว่าแต่ละกระแสความคิดจะแตกต่างกันในเชิงอุดมการณ์ แต่ก็มีจุดร่วมขมวดเป็นปมเดียวกันมุ่งไปที่การต่อต้านเผด็จการทหาร เรียกร้องประชาธิปไตย และในที่สุดวาทกรรมทุกกระแส ก็ปรากฏตัวร่วมกันในการเดินขบวนของนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516