วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต ปี 2545
วัฒนธรรมการท่องเที่ยวของคนไทย พ.ศ. 2394-2544
โดย ปิ่นเพชร จำปา
ดาวน์โหลดได้ที่ https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:116431
บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดประสงค์ที่จะศึกษาวัฒนธรรรมการท่องเที่ยวของคนไทยจากอดีต ถึงปัจจุบัน ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าการท่องเที่ยวพัฒนาไปอย่างไรและอะไรคือปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสำนึกทางการท่องเที่ยวของคนไทย ปัจจัยเหล่านี้ประกอบด้วยโลกทัศน์ ความเชื่อตั้งเดิมสภาพเศรษฐกิจสังคม การเมืองการปกครอง และผลกระทบของวัฒนธรรมตะวันตก
ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 คนไทยไม่มีความคิดที่ชัดเจนเกี่ยวกับการท่องเที่ยวตามแบบที่ชาวตะวันตกเข้าใจ กล่าวคือคนไทยไม่ใช้เวลาว่างในการท่องเที่ยวเพื่อความสุขสำราญ หลังจากนั้นกลุ่มชนชั้นสูงได้รับอิทธิพลความคิดการท่องเที่ยวแบบตะวันตกซึ่งหมายถึงการเดินทางเพื่อความสุข ซึ่งบุคคลในราชสำนักและข้าราชการชั้นสูงเป็นกลุ่มแรกที่รับวิถีชีวิตแบบตะวันตกมาปรับใช้ และการท่องเที่ยวไปใน จังหวัดต่างๆหรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆจึงเกิดขึ้นตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ 24 และวิถีชีวิตทางการ ท่องเที่ยวของชนชั้นสูงจึงแพร่หลายสู่คนทั่วไป
พุทธศตวรรษที่ 25 การท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่มีความหมายพิเศษมากขึ้นสำหรับคนไทย คือเป็นการเดินทางเพื่อความสุขสำราญ เพื่อการพักผ่อนรักษาสุขภาพ และเพื่อทัศนศึกษาเปิดโลกทัศน์ช่วงแรกของการพัฒนาการท่องเที่ยวในประเทศไทย กลุ่มชนชั้นสูงนิยมท่องเที่ยวไปในบริเวณหาดทรายชายทะเล หัวหินจึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมโดยเฉพาะหลังจากที่ทางรถไฟผ่านไปถึง ตั้งแต่ พ.ศ.2503 เป็นต้นมา ความหมายของการท่องเที่ยวได้ขยายออกไปครอบคลุมกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ ทัศนศึกษา การกีฬา การประชุมสัมมนา การท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ลักษณะการท่องเที่ยว หลัง พ.ศ.2503 สำหรับคนส่วนใหญ่แบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ การท่องเที่ยวแบบส่วนตัวไปกับครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อน และการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจที่ไปกับบริษัทนำเที่ยว และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจากกระแสการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมในประเทศไทยของรัฐบาล คนไทยส่วนใหญ่จึงมีแนวโน้มที่จะท่องเที่ยวโดยเลือกท่องเที่ยวเชิงนิเวศ