วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต ปี 2545
ความขัดแย้งทางการเมืองในสมัยรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
โดย กฤชติน สุขศิริ
ดาวน์โหลดได้ที่ https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:116460
บทคัดย่อ
การศึกษาเรื่อง “ความขัดแย้งทางการเมืองในสมัยรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์” นี้มีความมุ่งหมายที่จะศึกษาเหตุการณ์ทางการเมืองอันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่มุ่งเน้นไปยังประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ กับ กลุ่มการเมืองทั้งภายในระบบราชการ และนอกระบบราชการ ที่ได้เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลในช่วงเวลานี้
ผลของการศึกษาพบว่า ประการแรก ประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองในสมัยรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ภายหลังการยึดอำนาจจากรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร นั้นเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในกลุ่มผู้นำทหาร ซึ่งทำการยึดอำนาจการปกครองร่วมกันมาถึงสองครั้ง คือ วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ในนาม “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” และวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 ในนาม “คณะปฏิวัติ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520” ระหว่างกลุ่มพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ กับ กลุ่มพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ที่กลุ่มพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ สามารถช่วงชิงอำนาจทางการเมืองได้เหนือกว่า กลุ่มพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ด้วยการสร้างพันธมิตรกับกลุ่มผู้นำทหารอื่น ๆ ภายในคณะรัฐประหาร และ กลุ่ม "ทหารหนุ่ม" หรือ "ยังเติร์ก" ที่เป็นผู้กุมกำลังสำคัญในกองทัพ
ประการต่อมา ความขัดแย้งทางการเมืองในสมัยรัฐบาลพลเอกเครียงศักดิ์ ชมะนันทน์ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2522 นั้นเป็นการปะทะกันระหว่างรัฐบาล กับกลุ่มพรรคการเมือง และ กลุ่มการเมืองนอกระบบราชการ ที่กลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งจากการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเมืองของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้สรุปผลการศึกษาได้ว่า การเมืองไทยภายใต้รัฐบาลพลเอกเครียงศักดิ์ชมะนันทน์ นั้นเป็นห้วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านทางประวัติศาสตร์การเมืองที่เกิดจากการช่วงชิงอำนาจกันเองในกลุ่มการเมืองในระบบราชการ ภายใต้บริบทการรัฐประหาร และเป็นการปะทะกันของกลุ่มการเมืองในระบบราชการกับพลังการเมืองนอกระบบราชการภายใต้ระบอบการเลือกตั้ง