วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต ปี 2545
ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างไทย-ญี่ปุ่น พ.ศ. 2475-2488
โดย นิภาพร รัชตพัฒนากุล
ดาวน์โหลดได้ที่ https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:116428

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่อง “ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างไทยและญี่ปุ่น พ.ศ. 2475 – 2488” มุ่งทำความเข้าใจถึงลักษณะของความสัมพันธ์ รวมถึงปัจจัยที่ทำให้ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นใกล้ชิดกันมากขึ้นนับตั้งแต่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

จากการศึกษาพบว่าความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างไทยและญี่ปุ่นในช่วงเวลาดังกล่าว สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วงเวลา คือ ระหว่างปี พ.ศ. 2475-2484 และ ระหว่างปี พ.ศ. 2485-2488

ในช่วงก่อนเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาในปี พ.ศ. 2484 นั้น ปัจจัยจากการเปลี่ยนแปลงภายในสังคมไทย คือ การเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางในเมืองที่แสวงหาความก้าวหน้าจากการประกอบอาชีพอิสระ ตลอดจนถึงความต้องการของภาคเอกชนญี่ปุ่นที่ต้องการผลิตบุคลากรชาวไทยขึ้นมารองรับการขยายตัวทางการค้าของญี่ปุ่นและเพื่อลดบทบาทของพ่อค้าชาวจีนที่สร้างความเสียหายจากการคว่ำบาตรสินค้าญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 2470 นั้นเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้กิจกรรมทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศทั้งสองเพิ่มมากขึ้น ภายหลังจากที่รัฐบาลทั้งไทยและ ญี่ปุ่นได้ปรับนโยบายต่างประเทศโดยหันมาให้ความสำคัญต่อกันมากขึ้นในช่วงกลางของทศวรรษ 2470 ดังจะเห็นได้จากจำนวนนักเรียนทุนส่วนตัวของไทยในญี่ปุ่นที่เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังปี พ.ศ. 2476 รวมถึงหลักสูตรภาษาญี่ปุ่นของสถานศึกษาวัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่นที่เน้นทักษะการสนทนาเพื่อประโยชน์ในการใช้งานได้จริง

การเข้าสู่สงครามมหาเอเชียบูรพาในฐานะพันธมิตรกับญี่ปุ่นในปลายปี พ.ศ. 2484 นั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศทั้งสองเปลี่ยนแปลงไปจากที่ดำเนินมาก่อนหน้านี้ กล่าวคือ การสถาปนา “วงไพบูลย์ร่วมกันแห่งมหาเอเชียบูรพา” ของญี่ปุ่นนั้น ส่วนหนึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างวัฒนธรรมแห่งเอเชียที่แท้จริงขึ้นใหม่ โดยมีวัฒนธรรมของญี่ปุ่นเป็นศูนย์กลาง ในส่วนของประเทศไทยซึ่งมีฐานะเป็นประเทศพันธมิตรนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำความตกลงทางวัฒนธรรมเพื่อให้ได้รับความร่วมมือจากไทยในการเผยแพร่วัฒนธรรมของญี่ปุ่นโดยผ่านกิจกรรมอย่างเช่น การสอนภาษาญี่ปุ่นเพื่อให้เป็นภาษากลางของวงไพบูลย์ การอบรมผู้นำของวงไพบูลย์ ฯ ซึ่งปฏิบัติการทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่นดังกล่าวนี้ทำให้รัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องปรับแนวทางในการดำเนินนโยบายชาตินิยมทางวัฒนธรรม ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 โดยการใช้มาตรการที่เข้มข้นมากขึ้นเพื่อกุมอำนาจในการจัดการด้านวัฒนธรรม เช่น การจัดตั้งสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งจากปฏิกิริยาตอบสนองของรัฐบาลไทยต่อการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมของญี่ปุ่นนั้น อาจกล่าวได้ว่าหวังผลในสองนัย คือ ด้านหนึ่งเพื่ออาศัยอำนาจของญี่ปุ่นในการขยายอิทธิพลทางวัฒนธรรมแห่งรัฐไทยให้เป็นศูนย์กลางของอารยธรรมในแหลมทอง (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในส่วนคาบสมุทร) ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีพัฒนาการมาตั้งแต่ช่วงแรกของการดำเนินนโยบายชาตินิยมทางวัฒนธรรมของรัฐไทย และอีกด้านหนึ่งเพื่อใช้ในการต่อต้านการแทรกแซงด้านวัฒนธรรมของญี่ปุ่น