วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต ปี 2545
ถนนสุขุมวิทกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจในภาคตะวันออกของประเทศไทย พ.ศ. 2477-2539
โดย อำพิกา สวัสดิ์วงศ์
ดาวน์โหลดได้ที่ https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:116416

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่อง "ถนนสุขุมวิทกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจในภาคตะวันออกของประเทศไทย พ.ศ.2477-2539" มุ่งอธิบายให้เห็นถึงพัฒนาการของถนนสุขุมวิทที่มีความสัมพันธ์ต่อ ลักษณะเศรษฐกิจในภาคตะวันออก โดยเริ่มศึกษาปัจจัยที่ก่อให้เกิดการพัฒนาระบบถนนในประเทศไทยและเชื่อมโยงมายังถนนสุขุมวิท วิเคราะห์ถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ โดยมีถนนสุขุมวิทเป็นตัวกระตุ้นสำคัญอันส่งผลต่อระบบการผลิตทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก

จากการศึกษาพบว่า ถนนสุขุมวิทเกิดขึ้นภายใต้บริบทการพัฒนาด้านการคมนาคมของประเทศไทย ซึ่งมีแรงผลักดันจากปัจจัยทั้งจากในและภายนอกประเทศที่สำคัญได้แก่ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจจากสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 2490 และการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติโดยรัฐบาลไทยในทศวรรษที่ 2500 ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของระบบถนนเชื่อมโยงครอบคลุมทั่วประเทศ ในช่วงแรกของโครงการสร้างทาง ถนนสุขุมวิทได้เป็น ตัวกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของภูมิภาคให้ขยายตัวจากพื้นที่เลียบชายฝั่งทะเล เข้าสู่พื้นที่ตอนในของ ภูมิภาค ความสะดวกในการขนส่งลำเลียงสินค้าทำให้เกิดการผลิตสินค้าชนิดใหม่ๆ เพื่อตอบสนองการส่งออก อาทิ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สับปะรดกระป๋อง การปศุสัตว์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก (eastern sea board) ซึ่งเน้นการส่งเสริมการผลิตทางอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้พื้นที่ ถนนสุขุมวิทก็ได้รับผลกระทบจากโครงการนี้เช่นกัน โดยได้ลดบทบาทในการเป็นตัวกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคและบทบาทของการเป็นเส้นหลักในการลำเลียงสินค้า โดยมีท่าเทียบเรือเข้ามาทำหน้าที่แทน