วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต ปี 2546
นโยบายการเคหะแห่งชาติกับการพัฒนาประเทศสิงคโปร์ (ค.ศ. 1960-2000)
โดย กนิษฐา จานเขื่อง
ดาวน์โหลดได้ที่ https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:115756
บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มุ่งศึกษานโยบายการเคหะแห่งชาติที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศสิงคโปร์จาก ค.ศ. 1960-2000 โดยจะแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของนโยบายการเคหะแห่งชาติว่า มีความสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ในขณะเดียวกัน ก็มีส่วนในการกำหนดพัฒนาการทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองสิงคโปร์ด้วย นโยบายการเคหะแห่งชาติแบ่งได้เป็น 3 ช่วงที่สำคัญ คือ นโยบายการเคหะแห่งชาติกับการพัฒนาประเทศใน ช่วงเวลาแห่งการสร้างชาติ (ค.ศ. 1960-1970) นโยบายการเคหะแห่งชาติกับการพัฒนาประเทศใน สังคมชนชั้นกลาง (ค.ศ. 1971-1990) และนโยบายการเคหะแห่งชาติกับการพัฒนาประเทศใน สังคมที่มีความหรูหรา ทันสมัย และเทคโนโลยีขั้นสูง (ค.ศ. 1991-2000) นอกจากนี้ยังจะวิเคราะห์สาเหตุและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายการเคหะแห่งชาติในด้านข้อจำกัดทาง ภูมิศาสตร์ อุดมการณ์และนโยบายทางการเมืองของพรรคกิจประชา เป้าหมายทางเศรษฐกิจ และการสร้างบูรณาการทางสังคม
ผลการศึกษาพบว่า นโยบายการเคหะแห่งชาติเป็นการพยายามเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างมีแผนการชัดเจนและมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศสิงคโปร์ทั้งในทางการเมืองเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อมทางกายภาพไม่เพียงภายในพื้นที่เขตดำเนินงานของการเคหะแห่งชาติเท่านั้นแต่ส่งผลกระทบโดยรวมทั่วประเทศ นโยบายการเคหะแห่งชาติช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพื้นที่สำหรับพักอาศัยและดำเนินธุรกิจ อันเป็นสาเหตุให้สิงคโปร์สามารถพัฒนาเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตจากหมู่บ้านชาวประมงและเกษตรกรมาสู่สังคมอุตสาหกรรมและเมืองระดับโลกที่มีตึกสูงระฟ้าและทันสมัย นโยบายการเคหะแห่งชาติยังมีส่วนสร้างความเป็นชาวสิงคโปร์จากกลุ่มผู้อพยพหลากหลายเชื้อชาติ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร และยกระดับมาตรฐานการดำรงชีพของประชาชน อย่างไรก็ตามเมื่ออัตราประชากรที่พำนักอาศัยอยู่ในห้องชุดของการเคหะแห่งชาติสูงขึ้นทำให้รัฐบาลพรรค กิจประชาได้นำนโยบายการเคหะแห่งชาติมาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งและจัดตั้งองค์กรระดับล่างในทุกอาคารของการเคหะแห่งชาติ ซึ่งมีส่วนควบคุมพฤติกรรมของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและลดความสามารถในการแข่งขันทางการเมืองของพรรคฝ่ายค้าน ดังนั้นจึงไม่ได้ช่วยเอื้อประโยชน์ต่อการ พัฒนาทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยในสิงคโปร์ นอกจากนี้ นโยบายการเคหะแห่งชาติยังไม่บรรลุเป้าหมายที่จะก่อให้เกิดการประสานกลมกลืนกันทางเชื้อชาติระหว่างชาวจีน ชาวมาเลย์ชาวอินเดีย และกลุ่มชนเชื้อชาติอื่นๆ ทั้งนี้เนื่องมาจากการฝังรากลึกของความแตกต่างทางเชื้อชาติภาษา ศาสนา และขนบธรรมเนียมประเพณี รวมถึงปัญหาทางสังคมระหว่างเพื่อนบ้าน