สารนิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต ปี 2547
ภูมิหลังทางสังคมและวัฒนธรรมของมิชชันนารีอเมริกันช่วง ค.ศ. 1820-1914 : การสำรวจเอกสารเกี่ยวกับมิชชันนารีเพรสไบทีเรียนที่ปฏิบัติงานในภาคเหนือของประเทศไทย
โดย ศิริพันธ์ นันสุนานนท์
ดาวน์โหลดได้ที่ https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:115272

บทความ

งานสารนิพนธ์ฉบับนี้ เป็นการสำรวจเอกสารของมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียนที่เข้ามาปฏิบัติงานในภาคเหนือของประเทศไทย เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงภูมิหลังทางสังคมและวัฒนธรรมอเมริกันของมิชชันนารีเหล่านั้น ในช่วง ค.ศ.1820 - 1914

เอกสารต่าง ๆ ของมิชชันนารีเพรสไบที่เรียนในประเทศไทย ได้เก็บรวบรวมอย่างเป็นทางการที่หอจดหมายเหตุแห่งมหาวิทยาลัยพายัพ ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดเก็บและอนุรักษ์เอกสารของสภาคริสตจักรในประเทศไทย เอกสารของมิชชันนารีสามารถจัดกลุ่มเป็นประเภทที่สำคัญ ดังนี้รายงาน, จดหมายโต้ตอบ, บันทึกส่วนบุคคล, วารสาร และภาพถ่าย

จากการสำรวจพบว่ารายงานเป็นเอกสารที่แสดงให้เห็นถึง การปฏิบัติงานของมิชชันนารีที่เข้ามาดำเนินการเผยแพร่คริสต์ศาสนา ซึ่งสะท้อนอิทธิพลของขบวนการฟื้นฟูจิตวิญญาณและขบวนการปฏิรูปทางสังคมในสหรัฐอเมริกาด้วย ส่วนเอกสารประเภทจดหมายโต้ตอบ เป็นเอกสารที่แสดงความเป็นตัวตนของมิชชันนารีมากที่สุด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับมิชชันนารีแต่ละคนว่า มีความสนใจในเรื่องใดมากกว่ากัน เอกสารประเภทบันทึกส่วนบุคคลเป็นเอกสารที่สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมของคนยุคนั้นที่ชอบงานเขียนประเภทบันทึก และให้ข้อมูลด้านภูมิหลังในเชิงลึกได้มากพอสมควร ในขณะที่วารสารเป็นเอกสารที่สะท้อนให้เห็นถึง ทัศนคติโดยรวมของ สังคมอเมริกัน ว่ามีมุมมองอย่างไรในบริบทของคริสต์ศาสนาโปรเตสแตนท์ และเอกสารประเภท สุดท้าย ภาพถ่ายเป็นเอกสารที่แสดงให้เห็นภาพของมิชชันนารีพร้อมทั้งบริบทแวดล้อมได้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน

ผลสรุปจากการสำรวจครั้งนี้ พบว่า เอกสารของมิชชันนารีนอกจากจะบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงภูมิหลังทางสังคมและวัฒนธรรมของมิชชันนารีในฐานะที่เป็นชาวอเมริกันกลุ่มหนึ่งได้เป็นอย่างดี