วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต ปี 2548
บ่อนเบี้ยในสังคมไทย พ.ศ. 2367-2460 : การศึกษาเชิงสังคมวัฒนธรรม
โดย ณัฐยา อัศวพงษ์อนันต์
ดาวน์โหลดได้ที่ https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:114230

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่อง "บ่อนเบี้ยในสังคมไทย พ.ศ. 2367-2460 : การศึกษาเชิงสังคม วัฒนธรรม" มุ่งศึกษาบ่อนเบี้ยในฐานะเป็นกิจการงานบริการความบันเทิงในรูปแบบของการเล่นพนันแบบหนึ่งในสังคมเมือง "กรุงเทพฯ"ในประเด็นเรื่อง ทำเลที่ตั้ง บทบาทของรัฐบาลที่มีต่อ กิจการ ลักษณะการจัดองค์กรธุรกิจ และการดำเนินงานของผู้ประกอบการ รวมถึงกิจกรรมการเล่นพนันและวิถีชีวิตของผู้คนภายในชุมชนบ่อนเบี้ย

จากการศึกษาพบว่า บ่อนเบี้ยเป็นกิจการที่ดำเนินงานตามธรรมเนียมการค้าแบบจีนในระบบกงสีและขยายกิจการในลักษณะเครือข่ายครอบคลุมการให้บริการตามชุมชนต่างๆ ซึ่งนอกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจและสังคมจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขยายจำนวน กิจการตามการเติบโตของกลุ่มผู้ใช้บริการแล้ว การเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพของกรุงเทพฯจากการขยายเมืองด้วยการขุดคลองและตัดถนนก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินกิจการเพื่อให้บริการภายในชุมชนที่ตั้งขึ้นใหม่ด้วย

จากความสำคัญของรายได้ในการดำเนินธุรกิจบ่อนเบี้ย ทำให้ผู้ประกอบการอาศัยมหรสพนาฏกรรมความบันเทิง และการพนันนานาชนิดมาเป็นกลยุทธ์ในการขายเพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการในบ่อนเบี้ยขนาดใหญ่และเริ่มสร้างรูปแบบการเป็นชุมชนศูนย์รวมความบันเทิงให้กับชุมชน ขณะที่รัฐบาลเองก็ตระหนักถึงความสำคัญของบ่อนเบี้ยในฐานะเป็นแหล่งรายได้สำคัญประเภทหนึ่ง ได้ทำให้รัฐบาลเข้ามากำหนดนโยบายคุ้มครองและควบคุมการดำเนินกิจการจนมีผลต่อพัฒนาการรูปแบบการเป็นศูนย์รวมวัฒนธรรมความบันเทิงในช่วงทศวรรษที่ 2430เป็นต้นมา

การเป็นศูนย์รวมวัฒนธรรมความบันเทิงของชุมชนบ่อนเบี้ยได้สะท้อนภาพผู้คนที่เข้ามาใช้ชีวิตในชุมชน ทั้งการประกอบกิจกรรมการเล่นพนันและการแสวงหาความสุขจากความ บันเทิงอื่นๆ รวมถึงการประกอบอาชีพที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตชุมชนบ่อนเบี้ย