วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต ปี 2548
ประวัติศาสตร์นิพนธ์แนวคิด "ศิลปะเพื่อชีวิต" (พ.ศ. 2492-2501)
โดย สมิทธ์ ถนอมศาสนะ
ดาวน์โหลดได้ที่ https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:114163

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ ศึกษาถึงแนวคิด "ศิลปะเพื่อชีวิต" ในช่วง พ.ศ. 2492-2501 ทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์และในแง่ของประวัติวรรณกรรมเพื่อศึกษาว่าแนวคิดนี้มีความเป็นมาและความเคลื่อนไหวอย่างไรในประวัติศาสตร์และถูกเขียนขึ้นหรือถูกเข้าใจอย่างไรในงานประวัติวรรณกรรม

จากการศึกษาพบว่า แนวคิด "ศิลปะเพื่อชีวิต" ในช่วงทศวรรษ 2490 นั้น มีพื้นฐานจากแนวคิดทางศิลปะที่อึงอยู่กับแนวคิดทางการเมืองแบบลัทธิมาร์กซ์ และเสนอถึงเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมให้เป็น "ประชาธิปไตยแผนใหม่" ที่เป็นบันไดขั้นแรกของ "สังคม นิยม" โดยองค์กรที่มีส่วนสำคัญในการเผยแพร่ได้แก่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ขณะเดียว กัน ในช่วงต้นทศวรรษ 2490 ก่อนที่แนวคิด "ศิลปะเพื่อชีวิต" จะเป็นที่รู้จักในหมู่ปัญญาชนของยุค นั้น ก็ได้เริ่มมีมุมมองทางศิลปะบางประการที่อาจเป็นฐานให้กับแนวคิดนี้อยู่ก่อนแล้ว เช่นการเข้ามาของแนวคิดทางศิลปะแบบ ตอลสตอย , การเริ่มมองงานศิลปะในฐานะของสิ่งสากลที่อำนวยประโยชน์แก่สาธารณชนทุกชนชั้น, การถกเถียงเรื่องศิลปะและอนาจาร ตลอดจนการมองงานวรรณกรรมในฐานะของสิ่งซึ่งสัมพันธ์กับชีวิตและสังคม การเผยแพร่ของแนวคิดนี้ จึงสอดคล้องกับทั้งแนวคิดทางการเมืองและแนวคิดทางวรรณกรรมในช่วงนั้น

สำหรับในแง่ของประวัติวรรณกรรมซึ่งถือว่าเป็นประวัติศาสตร์นิพนธ์ประเภทหนึ่งนั้น แนวคิด "ศิลปะเพื่อชีวิต" ได้ถูกนำเสนอภายใต้ความหมายหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น "ศิลปะเพื่อชีวิต" ในฐานะของความเคลื่อนไหวทางวรรณกรรมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายในสังคม, "ศิลปะเพื่อชีวิต" ที่เป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดจากแนวความคิดแบบสังคม นิยมลัทธิมาร์กซ์, หรือ "ศิลปะเพื่อชีวิต" ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวแบบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามงานประวัติวรรณกรรมเหล่านี้ต่างยอมรับร่วมกันถึงความสำคัญของกลุ่ม "ชมรมนักประพันธ์" ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของนักเขียนบางคนในทศวรรษ 2490ในฐานะของกลไกการเผยแพร่แนวคิด "ศิลปะเพื่อชีวิต" นอกจากนี้ในงานเหล่านี้ยังเสนอบรรยากาศในทศวรรษ 2490 ที่เป็นบรรยากาศที่เต็มไปด้วยการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงอย่างไรก็ตาม ข้อสรุปของงานประวัติวรรณกรรมที่เกี่ยวกับศิลปะเพื่อชีวิตในสองประเด็นนี้วางอยู่บนหลักฐานที่ไม่เพียงพอและถ้าหากหลักฐานไม่เพียงพอที่จะให้ข้อสรุปทำไมงานประวัติวรรณกรรมหลายชิ้นจึงเลือกมองทศวรรษ 2490 ในลักษณะนั้น?

ธรรมชาติของประวัติศาสตร์นิพนธ์ หรือการเขียนประวัติศาสตร์นั้น มักจะเชื่อมโยงกับสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นประเด็นสำคัญในยุคที่มันถูกเขียนขึ้นอยู่เสมอ ถ้ามองในแง่นี้ งานประวัติวรรณกรรมที่เริ่มถูกเขียนขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 2510 นั้น ย่อมมีความสัมพันธ์กับบรรยากาศทางวรรณกรรมในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มของนักเขียน หรือบรรยากาศการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงและการโต้ตอบระหว่างนักเขียนต่างอุดมการณ์อย่างรุนแรง ซึ่งบรรยากาศเหล่านี้ได้ไปปรากฏในการเขียนถึงความเคลื่อนไหวทางวรรณกรรมในทศวรรษ 2490 ทั้งสิ้น การเขียนถึงทศวรรษ 2490 นั้น ถึงที่สุดแล้ว อาจเป็นการบรรยายสภาพความเคลื่อนไหวทางวรรณกรรมในทศวรรษ 2510-2520 มากกว่าจะเป็นสภาพของทศวรรษ 2490 ก็เป็นได้