วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต ปี 2548
การกำหนดอายุเวลาและการจำลองพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก
โดย พิชญา สุ่มจินดา
ดาวน์โหลดได้ที่ https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:114168

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายในการศึกษาการกำหนดอายุเวลาและการจำลองพระพุทธชินราชด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ศิลปะบนพื้นฐานของ "ทฤษฎีปฏิมาวิทยา" ซึ่งมีสาระสำคัญว่า พระพุทธรูปสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ย่อมได้รับการจำลอง (ปฏิมา) อย่างแพร่หลายตราบเท่าที่ยังคงความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ไว้ อันเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับโลกทรรศน์ของพุทธศาสนิกชนมากกว่าการศึกษาด้วยการจำแนกพระพุทธรูปเป็นสกุลช่างหรือวิวัฒนาการตามแบบอย่างของการศึกษาศิลปะตะวันตก ดังนั้น วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงศึกษาการกำหนดอายุเวลาพระพุทธชินราชโดยพิจารณาจากพุทธลักษณะ เรือนแก้ว และวิหารทิศตะวันตกที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช

จากการศึกษาพบว่า พระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นเมื่อต้นพุทธศตวรรษ ที่ 23 (ทศวรรษที่ 1660 - กลาง 1680) พร้อมกับพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดาซึ่งมีพุทธลักษณะใกล้เคียงกันทั้ง 3 องค์ เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานประจำวิหารทิศของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก โดยกำหนดอายุพุทธลักษณะจากอายุเวลาของพระศรีศาสดา ซึ่งตรงกับครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 23 (ครึ่งหลังคริสต์ตตวรรษที่ 17) และสอดคล้องกับนี้วพระหัตถ์เสมอกันซึ่งนิยมสร้างในพระพุทธรูปอยุธยาตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ 23 (ทศวรรษที่ 1660 - กลาง 1680) เป็นต้นไป

สำหรับเรือนแก้วที่สร้างขึ้นพร้อมกับพระพุทธชินราชก็มีรูปแบบและลวดลายที่เทียบได้กับศิลปะในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 23 (ทศวรรษที่ 1660 - กลาง 1680) อันเป็นช่วงระยะเวลาที่นิยมสร้างพระพุทธรูปเรือนแก้วเป็นพระประธานประจำวิหารหรืออุโบสถ เช่นเดียวกับอายุเวลาของ วิหารทิศตะวันตกอันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช ก็เทียบได้กับความนิยมในการสร้างวิหาร ทิศที่มีระเบียงคดเชื่อมถึงกันรอบสถูปหรือปรางค์ประธานในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

อายุเวลาของพระพุทธชินราชที่กำหนดไว้ในต้นพุทธศตวรรษที่ 23 (ทศวรรษที่ 1660 - กลาง 1680) หรือตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (พ.ศ. 2199 - 2231/ค.ศ. 1656 - 1688)สอดคล้องกับการจำลองพระพุทธชินราชที่เพิ่งปรากฏในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อประมาณ พ.ศ. 2409 (ค.ศ. 1866) และชัดเจนขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธชินราชจำลองเป็นพระประธานของอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามเมื่อ พ.ศ. 2444 (ค.ศ. 1901) อันสะท้อนถึงความสำคัญของพระพุทธชินราชที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นในช่วงระยะเวลานี้

ส่วนความสำคัญของพระพุทธชินราชที่ได้รับการกล่าวถึงในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก่อนหน้านั้น คงเกิดจากความลับสนระหว่าง "พระพุทธชินราช" ที่ "พิษณุโลก" กับ "พระพุทธชินราช" และ "พระพุทธชินศรี" ซึ่งเคยประดิษฐานที่ "สุโขทัย" และอัญเชิญมาประดิษฐานยังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระ พุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โดยพระพุทธชินราชและพระพุทธชินศรีจากสุโขทัย น่าจะเป็นองค์เดียวกับที่กล่าวถึงความสำคัญไว้ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ประเภทตำนานและพระราชพงศาวดารที่ชำระขึ้นในรัชกาลดังกล่าว