วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต ปี 2548
ทวารวดีในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย
โดย นภวรรณ์ มีลักษณะ
ดาวน์โหลดได้ที่ https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:114166
บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษาความเปลี่ยนแปลงขององค์ความรู้เรื่องทวารวดีผ่านงานเขียนทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2467-ปัจจุบันจากการศึกษาพบว่า องค์ความรู้เรื่อง ทวารวดี เกิดขึ้นภายใต้บริบทการเขียนประวัติศาสตร์ชาติอันต้องการค้นหาอดีต์ในดินแดนประเทศไทยที่มีความเก่าแก่กว่าสมัยสุโขทัยหรืออยุธยาในช่วงปลายรัชกาลที่ 6 โดยมีสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นผู้ให้กำเนิดอาณาจักรทวารวดีในฐานะที่เป็นอาณาจักรแรกสุดของดินแดนในประเทศไทยและมีราชธานีอยู่ที่นครปฐม และจากการพบโบราณวัตถุสถานในทางพุทธศาสนาเป็นจำนวนมากซึ่งมีรูปแบบใกล้เคียงกับนครปฐมซึ่งเป็นราชธานี อันได้แก่ อยุธยา ราชบุรี นครสวรรค์ พิษณุโลก ปราจีนบุรีและนครราชสีมา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า อาณาจักรทวารวดีมีอำนาจทางการเมืองครอบคลุมบริเวณจังหวัดต่างๆที่กล่าวข้างต้น นอกจากนี้ การค้นพบโบราณวัตถุสถานในลักษณะเดียวกันในจังหวัดต่างๆข้างต้นจึงทำให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและยอร์ช เซเดส์ เรียกโบราณวัตถุสถานในทางพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทที่อยู่ในบริเวณอาณาจักรทวารวดีซึ่งมีรูปแบบใกล้เคียงกับที่พบที่นครปฐมซึ่งเชื่อว่าเป็นราชธานีนั้นว่า ศิลปะสมัยทวารวดี ดังนั้น ศิลปะทวารวดี จึงเป็นชื่อที่ใช้เรียกโบราณวัตถุสถานที่ทำขึ้นในพุทธศาสนาลัทธิเดรวาทอันมีอายุเวลาเทียบเคียงได้กับศิลปะสมัยคุปตะของประเทศอินเดีย ด้วยเหตุนี้ ทวารวดี จึงเป็น ชื่อที่ใช้เรียกอาณาจักรหนึ่งและแบบศิลปะทางพุทธศาสนาที่เก่าที่สุดในประเทศไทย
องค์ความรู้เรื่อง ทวารวดี ที่กล่าวข้างต้นเป็นที่ยอมรับจากผู้ที่ศึกษาโบราณคดีทั้งไทยและต่างประเทศ และกลายเป็นกรอบโครงสำหรับผู้ที่ศึกษาโบราณคดีในยุคต่อจนถึงปัจจุบันสำหรับในประเทศไทย องค์ความรู้เรื่อง ทวารวดี ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและยอร์ช เซเดส์ ได้ถูกถ่ายทอดให้กับข้าราชการพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครในอยู่สังกัดราช บัณฑิตสภาโดยมีสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นนายก เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 รัฐบาลได้จัดตั้งกรมศิลปากรขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2476 โดยได้โอนย้ายงานและ ข้าราชการจากราชบัณฑิตยสภามาอยู่ที่กรมศิลปากร ดังนั้น องค์ความรู้เรื่อง ทวารวดี ของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพและยอร์ช เซเดส์ จึงได้รับการสืบทอดต่อมายังกรมศิลปากร ต่อมาเมื่อกรมศิลปากรได้ก่อตั้งคณะโบราณคดีในมหาวิทยาลัยศิลปากร ใน พ.ศ. 2498 เพื่อผลิต นักศึกษาเข้ารับราชการในกองโบราณคดี กรมศิลปากร กรอบความรู้เรื่อง ทวารวดี ของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพและยอร์ช เซเดส์ ก็ได้รับการถ่ายทอดจากคณาจารย์ซึ่งเป็นข้าราชการ สังกัดกรมศิลปากรสู่นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรสืบต่อมา
ต่อมา การศึกษาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์และโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ในประเทศไทยมีความก้าวหน้ามากขึ้นในช่วงทศวรรษ 2500 ทำให้องค์ความรู้เรื่อง ทวารวดี เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงโดยที่อาณาจักรและศิลปะสมัยทวารวดีกลายเป็นรอยต่อของสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์ในทางโบราณคดี นอกจากนี้ การขุดค้นแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดีเช่น คูบัว ราชบุรี อู่ทอง สุพรรณบุรี โคกไม้เดน นครสวรรค์ และจันเสน นครสวรรค์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์ความรู้เรื่อง ทวารวดี เช่น นครปฐมอาจไม่ใช่ราชธานีของอาณาจักรทวารวดีตั้งแต่เริ่มแรกเพราะผลการขุดค้นที่อู่ทองพบว่า คู่ทองมีอายุเวลาเก่าแก่กว่านครปฐม เป็นต้นในช่วงทศวรราษ 2520 เป็นต้นมา ที่เริ่มมีนักวิชาการอาชีพสาขาอื่นๆเข้ามาศึกษาเรื่อง ทวารวดี เช่นมานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ศิลปะ เป็นต้น โดยเฉพาะหลังทศวรรษ 2520 นักวิชาการทางมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์จะอธิบาย ทวารวดี ในเชิงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ซึ่ง ทวารวดี จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของพัฒนาการของการเกิดรัฐในประเทศไทยก่อนพุทธศตวรรษที่ 18 ส่วนในทางประวัติศาสตร์ศิลปะตามแนวทางการศึกษาของ พิริยะ ไกรฤกษ์ ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะภายใต้แนวคิดการอธิบายภาพและการศึกษาหาเหตุผลในการสร้างภาพ โดยศิลปะในประเทศไทยส่วนใหญ่จะสร้างขึ้นตามความเชื่อทางศาสนา ดังนั้น หากมีการเปลี่ยนแปลงความเชื่อทางศาสนารูปแบบของศิลปะย่อมเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ซึ่งทำให้ พิริยะ ไกรฤกษ์ เปลี่ยนการเรียกชื่อแบบศิลปะในประเทศไทยที่มีมาแต่เดิมเปลี่ยนเป็นเรียกชื่อแบบศิลปะตามลัทธิ/นิกายที่โบราณวัตถุสถานนั้นสร้างขึ้นเช่น ศิลปะในลัทธิหีนยานเป็นต้น ซึ่งตามทฤษฎีของ พิริยะ ไกรฤกษ์ ศิลปะสมัยทวารวดีจะไม่มีอีกต่อไป
แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงการอธิบายเรื่อง ทวารวดี ในเชิงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ศิลปะในแง่มุมใหม่ก็ตามซึ่งกระแสดังกล่าวเป็นเพียงกระแสรอง โดยที่เป็นการรับรู้และถ่ายทอดในวงวิชาการระดับอุดมศึกษาเท่านั้น ซึ่งไม่ได้มีผลกระทบเท่าใดนักต่อคำอธิบาย ทวารวดี ในประวัติศาสตร์กระแสหลักหรือในประวัติศาสตร์ชาติ จึงทำให้องค์ความรู้เรื่อง ทวารวดี ในแนวประวัติศาสตร์ชาติจึงยังคงดำรงอยู่ในสำนึกของประชาชนโดยทั่วไป โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่องค์ความรู้เรื่อง ทวารวดี ออกไปสู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง ดังนั้น ทวารวดี ยังคงเป็นชื่อของอาณาจักร เป็นสมัยของประวัติศาสตร์และยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ศิลปะสืบต่อไป