สารนิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต ปี 2548
พุทธศาสนาและการเมืองลาวภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ 1975-1998
โดย วรฉัตร เจริญผล
ดาวน์โหลดได้ที่ https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:114248
บทคัดย่อ
สารนิพนธ์นี้มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษาบทบาทของพุทธศาสนาต่อสังคมและเมืองลาว ตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยเน้นช่วงเวลาที่พรรคคอมมิวนิสต์ได้ปกครองลาวตั้งแต่ ค.ศ. 1975จนถึง ค.ศ.1998 เมื่อมีกฎหมายคณะสงฆ์ นอกจากนี้ยังจะศึกษาสาเหตุที่ทำให้พระพุทธศาสนาในลาวในช่วงเวลาดังกล่าว
ในสมัยอาณานิคม พระพุทธศาสนามีบทบาทสำคัญในการสร้างความรู้สึกชาตินิยมและความภูมิใจในวัฒนธรรมของชาวลาว พระสงฆ์จำนวนหนึ่งได้ก่อตั้ง "องค์การพุทธศาสนา สัมพันธ์ลาว" เพื่อต่อต้านพระธรรมยุติในลาว และต่อมาได้เปลี่ยนเป้าหมายเป็นการเรียกร้องเอกราชแทน
ในสมัยสงครามเย็น พระสงฆ์ลาวแบ่งออกเป็นฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาตามอิทธิพลอุดมการณ์ทางการเมือง แต่ละฝ่ายต่างก็พยายามเรียกแรงสนับสนุนและความชอบธรรมให้กับ ฝ่ายตนเองในฐานะผู้พิทักษ์พุทธศาสนา องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวเข้าร่วมกับฝ่ายปเทดลาวในการปลุกระดมประชาชนให้ต่อต้านการแทรกแซงจากสหรัฐอเมริกา พระสงฆ์กลุ่มนี้ได้ติดตามกองกำลังฝ่ายปเทดลาวเข้าไปทำการปฏิวัติในเขตปลดปล่อยหลังปี ค.ศ.1960
หลังจากที่ฝ่ายปเทดลาวเข้าปกครองประเทศได้ในปี ค.ศ.1975 รัฐบาลไม่ได้ยกเลิกสถาบันศาสนา ทั้งนี้เนื่องจากตระหนักถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนาที่มีต่อสังคมลาวไม่ว่า ด้านวิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม และการเมือง รวมทั้งบทบาทของพระสงฆ์ลาวที่มีส่วนร่วมในการปฏิวัติมาโดยตลอด รัฐบาลต้องใช้พระพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือสร้างความมั่นคงทางการเมืองอย่างไรก็ดีมีการจัดระเบียบองค์กรสงฆ์ใหม่ และยกเลิกการแบ่งแยกนิกาย ให้เหลือเพียงนิกายเดียวเรียกว่า"พระสงฆ์ลาว" เพื่อมิให้เกิดความแตกแยก และควบคุมเนื้อหาการเทศน์ให้ประยุกต์เข้ากับแนวคิดสังคมนิยม
ในช่วงห้าปีแรก รัฐบาลดำเนินนโยบายที่เข้มงวดต่อพุทธศาสนา เนื่องจากสถานภาพทางการเมืองไม่มั่นคง มีการต่อต้านจากฝ่ายขวาที่หลงเหลืออยู่บ้าง ทำให้รัฐบาลต้องพึ่งกลุ่มชนเผ่าต่างๆที่เคยร่วมมือในการปฏิวัติ การที่กลุ่มชนเผ่านับถือผีสางนั้นทำให้รัฐบาลประกาศเคารพใน สิทธิที่จะเชื่อ หรือไม่เชื่อในศาสนาได้ และจำกัดการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และงานบุญของชาวลาวลุ่มเพื่อที่จะไม่สร้างความแตกแยก แต่นโยบายเข้มงวดทางศาสนาเหล่านี้กลับสร้างความไม่พอใจให้ชาวลาวที่นับถือพุทธศาสนา ส่งผลให้ประชาชนต่อต้านและเกิดการอพยพออกนอกประเทศ
หลังปี ค.ศ. 1980 รัฐบาลคอมมิวนิสต์ลาวมีโยบายผ่อนปรนต่อพุทธศาสนาเนื่องจาก ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ภัยธรรมชาติ และปัญหาการอพยพออกนอกประเทศ ทำให้รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่เสรีขึ้น ซึ่งมีผลต่อนโยบายการผ่อนปรนทางพระพุทธศาสนาอย่างเห็นได้ชัด หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียดในปี ค.ศ.1991 ในรัฐธรรมนูญลาวที่ประกาศใช้ใน ปีเดียวกันนั้น ยอมรับการปฏิบัติพิธีกรรมของพุทธศาสนาและสนับสนุนให้พระสงฆ์ สามเณร ทำ กิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อชาติ แต่ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องการความเคารพความเชื่อนับถือผีของกลุ่มชนเผ่าที่เคยปรากฏในช่วงทศวรรษที่ 1970
หลังยุคสงครามเย็น รัฐบาลคอมมิวนิสต์ลาวมีท่าที่จะให้ความสำคัญแก่พระพุทธศาสนาในฐานะอัตลักษณ์ของประเทศ และการนับถือศาสนาพุทธเป็นสัญลักษณ์ของคนลาว