สารนิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต ปี 2548
หนทางสู่อำนาจ : การเป็นผู้นำทางการเมืองของพรรคอัมโนในมลายา ค.ศ. 1946-1957
โดย อภิเชษฐ กาญจนดิฐ
ดาวน์โหลดได้ที่ https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:114162
บทคัดย่อ
สารนิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาว่า พรรคอัมโน (United Malay National Organization: UMNO) ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางการเมืองในมลายาในช่วงก่อนได้เอกราช (ค.ศ. 1946-1957) ได้อย่างไร โดยจะมุ่งเน้นทั้งบทบาทและพัฒนาการของพรรคอัมโนควบคู่ไปกับการศึกษาบริบททางการเมืองของมลายาในเวลาดังกล่าว
ผลของการศึกษาพบว่าพรรคอัมโนสามารถก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำทางการเมืองของมลายาได้โดยมีปัจจัยเกื้อหนุนดังต่อไปนี้ ประการแรก การมีผู้นำพรรคที่สืบเชื้อสายมาจากชน ชั้นสูงชาวมลายเพราะนอกจากจะสอดคล้องกับธรรมเนียมของชาวมลายูที่ยกย่องนับถือชนชั้นสูงให้เป็นผู้นำแล้ว คนเหล่านี้ยังได้รับการศึกษาตามแบบอังกฤษมีความรู้สูงกว่าชาวมลายูโดยทั่วไปและมีโอกาสได้รับความคิดและประสบการณ์ทางการเมืองสมัยใหม่ประกอบกับมีความใกล้ชิดกับศูนย์กลางของอำนาจทางการเมืองมาโดยตลอดทั้งในการปกครองแบบราชสำนักของมลายาและการปกครองภายใต้ระบบอาณานิคมของอังกฤษ จึงทำให้คนเหล่านี้มีความพร้อมต่อการเมืองสมัยใหม่มากกว่าชาวมลายูกลุ่มอื่นๆ ประการที่สอง การใช้แนวคิดเรื่องเชื้อชาติ พรรคอัมโน ประกาศตนว่าเป็นพรรคการเมืองตัวแทนของชาวมลายูและแสดงบทบาทในฐานะผู้พิทักษ์สิทธิและผลประโยชน์ของชาวมลายูอย่างชัดเจนนับตั้งแต่แรกก่อตั้ง ประการที่สาม การร่วมมือกับกลุ่มเชื้อชาติอื่นๆก่อให้เกิดประโยชน์แก่พรรคอัมโนหลายประการ ทั้งเรื่องการช่วยเหลือด้านเงินทุนจากพันธมิตรทางการเมือง คะแนนเสียงจากกลุ่มเชื้อชาติอื่นๆ และสามารถตอบสนองนโยบายของ อังกฤษในข้อที่ว่าจะยอมมอบเอกราชให้แก่มลายาก็ต่อเมื่อเชื้อชาติต่างๆในมลายามีความสมานฉันท์และสามารถทำงานทางการเมืองร่วมกันได้ ประการที่สี่ การร่วมมือกับรัฐบาลอังกฤษแม้ว่าจุดประสงค์เริ่มแรกของพรรคอัมโน คือ ต่อต้านแผนการปกครองสหภาพมลายาของอังกฤษแต่หลังจากอังกฤษยอมรับถึงความผิดพลาดของแผนการดังกล่าว ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสอง ฝ่ายก็พัฒนาไปในทางที่ดีและมีความร่วมมือทางการเมืองต่อกันมากขึ้น นับตั้งแต่การที่อังกฤษเปิดโอกาสให้พรรคอัมโนเป็นตัวแทนของชาวมลายูเข้าเจรจาเพื่อปรับปรุงแก้ไขแผนการปกครองสหภาพมลายาร่างแผนการปกครองสหพันธรัฐมลายา และเปิดโอกาสให้พรรคอัมโนส่งตัวแทนเข้าร่วมในกิจกรรมทางการเมืองที่อังกฤษจัดตั้งขึ้น ประการที่ห้า ความล้มเหลวของคู่แข่งทางการเมือง ในช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีพรรคการเมืองใตเลยที่จะมีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะแข่งขันทางการเมืองกับพรรคอัมโนได้ ความล้มเหลวของพรรคการเมืองเหล่านั้นมีเหตุผลที่สำคัญ คือ การเลือกใช้นโยบายที่ผิดพลาดไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในมลายา การเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล และขาดความสามารถในการสร้างแนวร่วมทางการเมือง