สารนิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต ปี 2548
แผนการศึกษาเพื่อปวงชนของเวียดนาม
โดย ธารทิพย์ ภิรมย์อนุกูล
ดาวน์โหลดได้ที่ https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:113268
บทคัดย่อ
สารนิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาแผนการศึกษาเพื่อปวงชนของประเทศเวียดนามปี 1990-2000 พัฒนาการทางด้านการศึกษาตั้งแต่ก่อนปี 1990 จนถึงปี 2000 รวมทั้งผลสำเร็จและ ปัญหาในแผนการศึกษาเพื่อปวงชนฉบับนี้ โดยมีสมมุติฐาน 2 ประการ ประการแรก สภาพทาง สังคมและเศรษฐกิจของประเทศและปัญหาในระบบการศึกษาคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐบาลต้องประกาศใช้แผนการศึกษาเพื่อปวงชนปี 1990-2000 ประการที่สอง แผนการศึกษาเพื่อปวงชนของเวียดนามฉบับนี้ประสบความสำเร็จเพราะการประกาศใช้กฎหมายการศึกษาและการดำเนินมาตรการในแผนการศึกษาเพื่อปวงชน
การศึกษาครั้งนี้พบว่าสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากการปฏิรูปประเทศตามนโยบายเศรษฐกิจและปัญหาในระบบการศึกษา คือ สาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐบาลเวียดนามต้องนำแผนการศึกษาเพื่อปวงชนปี 1990-2000 มาใช้ โดยเฉพาะปัญหาที่มีอยู่ในระดับก่อนวัยเรียนและระดับประถมศึกษาคือ จำนวนและคุณภาพการศึกษาในระดับก่อนวัยเรียนต่ำ จำนวนการเข้าเรียนที่ลดน้อยลง, อัตราการลาออกกลางคันในระดับประถมศึกษา การไม่รู้หนังสือของประชาชน รัฐบาลสามารถบรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ได้ก็เพราะการประกาศใช้กฎหมายการศึกษาและการดำเนินมาตรการในแผนการศึกษาเพื่อปวงชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่เกี่ยวกับการทำให้การศึกษามีความเป็นสากลและการได้รับการสนับสนุนทาง ด้านเทคนิคจากองค์กรต่างชาติ อันได้แก่ ยูเนสโก, ยูนิเซฟ, โครงการเพื่อการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติและธนาคารโลก เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเวียดนามก็ประสบกับปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อผลสำเร็จของแผนการศึกษาเพื่อปวงชนฉบับนี้ ได้แก่ ปัญหาทางด้านลักษณะภูมิศาสตร์ของประเทศที่เป็นที่ราบสูงและภูเขาจำนวนสามในสี่ของพื้นที่ประเทศซึ่งผลส่งทำให้เกิดความยากลำบากในการติดต่อคมนาคมระหว่างพื้นที่ การพัฒนาความเจริญในด้านต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาและดำเนินแผนการ ศึกษาเพื่อป่วงชนและปัญหาเกี่ยวกับการกระจายทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกันของรัฐบาล อันสืบเนื่องมาจากการประกาศใช้นโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ส่งผลให้เกิดการพัฒนาทั้งทาง ด้านสังคมและเศรษฐกิจที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ส่งให้รัฐบาลบรรลุเป้าหมายในวัตถุประสงค์ระดับประเทศแต่เมื่อพิจารณาในส่วนของภูมิภาคแล้วพื้นที่บางส่วนโดยเฉพาะบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง, บริเวณที่ราบสูงและภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่รัฐได้ตั้งไว้