สารนิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต ปี 2548
บทบาทพ่อค้าในสมัยโตกูงาวะ ค.ศ. 1603-1868 : การสำรวจองค์ความรู้และประเด็นศึกษา
โดย สุรศักดิ์ เพ็งธรรม
ดาวน์โหลดได้ที่ https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:114204

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์เรื่อง "บทบาทพ่อค้าในสมัยโตกูงาวะ ค.ศ. 1603-1868: การสำรวจองค์ความรู้และประเด็นศึกษา" มุ่งทำการสำรวจและศึกษางานเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นในประเด็นที่เกี่ยวกับ บทบาทพ่อค้าในสมัยโตกูงาวะ เพื่อให้ทราบถึงแนวความคิด มุมมองและความเข้าใจของ นักวิชาการตะวันตก และนักวิชาการไทย ที่มีต่อประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นในช่วงสมัยดังกล่าว ทั้งยัง ศึกษาถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่องานการศึกษาเหล่านี้ด้วย

งานการศึกษาในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น พบการศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยโตกูงาวะทางด้านการเมือง และเศรษฐกิจ โดยเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง บทบาทพ่อค้านั้น มักพบสอดแทรกอยู่ในด้านเกี่ยวกับ เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ทั้งนี้ การศึกษาประวัติศาสตร์ในช่วง ก่อนสมัยใหม่หรือ ประวัติศาสตร์ในช่วงโตกูงาวะนั้น ยังมิได้รับความสนใจทำการศึกษาจาก นักวิชาการตะวันตกเท่าใดนัก

หลังการพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ของญี่ปุ่นและการเข้ามายึดครองของสหรัฐอเมริกา นักวิชาการตะวันตกได้เข้ามาทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับญี่ปุ่นมากขึ้นเพื่อเป็นแนวทางต่อการดำเนินการปฏิรูปญี่ปุ่นของสหรัฐอเมริกา และฝ่ายพันธมิตร ทั้งนี้ก่อให้เกิดการศึกษาเกี่ยวกับภาษาญี่ปุ่นอีกด้วย ทำให้นักวิชาการตะวันตกสามารถเข้าถึงหลักฐานชั้นต้นในการศึกษาเกี่ยวกับ ญี่ปุ่น ก่อให้เกิดงานการศึกษาที่มีความลุ่มลึก และเป็นมุมมองของนักวิชาการตะวันตกมากขึ้น ช่วง ค.ศ. 1960-80 ญี่ปุ่นได้ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกประเทศต่างๆ ได้หันมาให้ความสนใจศึกษาเกี่ยวกับญี่ปุ่นในทุกๆ ด้าน งานการศึกษาเกี่ยวกับบทบาทพ่อค้าสมัยโตกงาวะในช่วงนี้นั้น พบเป็นการศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการของผู้ประกอบธุรกิจโดยทำการศึกษาย้อนไปถึงสมัยโตกูงาวะ เป็นส่วนมากของงานศึกษา

หลัง ค.ศ. 1980 งานการศึกษาประวัติศาสตร์ในช่วงสมัยโตกงาวะได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับเนื่องด้วยพื้นฐานการศึกษาที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดพื้นที่การศึกษาใหม่ๆ ทั้งด้านการเมืองเศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม ภายใต้มิติการศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สังคม ทั้งนี้การศึกษาเกี่ยวกับ บทบาทพ่อค้าในสมัยโตกูงาวะ ได้มีการศึกษาเชื่อมโยงกับแง่มุมด้านศึกษาต่างๆ ในการศึกษาลักษณะเชิงสหวิทยาการ ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ในการทำความเข้าใจต่อประเด็นการศึกษามากขึ้น