สารนิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต ปี 2548
วิธีในการสร้างความชอบธรรมของพวกผู้นำนักรบสมัยคะมะกุระ : การสำรวจองค์ความรู้และประเด็นศึกษา
โดย พิมพัฒน์ ดิษยบุตร
ดาวน์โหลดได้ที่ https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:114165
บทคัดย่อ
สารนิพนธ์เรื่อง "วิธีในการสร้างความชอบธรรมของพวกผู้นำนักรบสมัยคะมะกุระ : การสำรวจองค์ความรู้และประเด็นศึกษา" นั้นมุ่งทำการสำรวจและศึกษางานเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยคะมะกุระ ในประเด็นที่เกี่ยวกับวิธีในการสร้างความชอบธรรมของพวกผู้นำนักรบในสมัยคะมะกุระเพื่อให้ทราบถึงแนวคิด มุมมอง และความเข้าใจของนักวิชาการที่มีต่อประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นในสมัยคะมะกุระ นอกจากนั้นยังได้ทำการศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่องานเขียนเหล่านั้นด้วย
จากการศึกษาพบว่าสามารถแบ่งงานเขียนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับยุคคะมะกุระที่มีประเด็นเกี่ยวกับวิธีในการสร้างความชอบธรรมของพวกผู้นำนักรบได้เป็นสี่ช่วง ช่วงแรก คือ งานเขียนในช่วง ก่อนปี ค.ศ. 1945 ช่วงที่สอง คือ งานเขียนในช่วงปี ค.ศ. 1945-1958 ช่วงที่สาม คือ งานเขียนในช่วง ปี ค.ศ.1958-1972 และช่วงสุดท้าย คือ งานเขียนในช่วงปี ค.ศ. 1972-ปัจจุบัน
จากการสำรวจพบว่างานในช่วงก่อนปี ค.ศ.1945 นั้นมีงานที่ศึกษาเกี่ยวกับประเด็น ดังกล่าวไม่มากนัก ส่วนใหญ่มักศึกษาเกี่ยวกับระบบฟิวดัลของญี่ปุ่นสมัยคะมะกุระ หลังจากนั้นได้ปรากฏงานเขียนออกมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1945 เป็นต้นมา และได้มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี ค.ศ. 1972-ปัจจุบัน
ในแต่ละช่วงนั้น ได้มีการเน้นประเด็นเกี่ยวกับวิธีในการสร้างความชอบธรรมของพวกผู้นำ นักรบสมัยคะมะกุระมากและน้อยต่างกันออกไป ในช่วงปี ค.ศ. 1945-1958 นั้นมีการกล่าวถึงประเด็นที่เกี่ยวกับชาตินิยม และระบบการปกครองโดยรวมของรัฐบาลทหารในสมัยคะมะกุระ ช่วงปี ค.ศ. 1958-1972 นั้นได้มีการกล่าวถึงประเด็นของระบบฟิวดัล" ที่ได้มีการวิเคราะห์ในกรอบของระบบการปกครองในสมัยคะมะกระมากขึ้น โดยที่ได้มีการเชื่อมกับเรื่องของระบบโมเอ็น (ระบบที่ดิน) ว่าได้มีส่วนต่อการสร้างความชอบธรรมให้กับผู้นำนักรบ จากการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ที่ได้เข้าไปเป็นตัวแทนอำนาจของผู้นนักรบให้ไปควบคุมตตามห้องถิ่นและเขตที่ดินต่างๆ สมัยคะมะกุระในช่วงปี ค.ศ. 1972-ปัจจุบัน นับว่าเป็นช่วงยุคที่ได้มีการขยายการศึกษาเกี่ยวกับสมัยคะมะกุระมากขึ้น โดยครอบคลุมไปถึงประเด็นของระบบการปกครองและบทบาทขององค์กรที่รัฐบาลทหารได้สร้างขึ้นมาใหม่ เพื่อต้องการสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง และยังมีประเด็นเกี่ยวกับการอ้าง อิงราชสำนักที่เกียวโตด้วย รวมไปถึงการสร้างความชอบธรรมที่มาจากอำนาจในการตัดสินคดีของ รัฐบาลทหารสมัยคะมะกุระ สังเกตได้ว่าช่วงทศวรรษ 1980 ได้มีการศึกษาในประเด็นใหม่ๆ ที่ลงไปในรายละเอียดเกี่ยวกับยุคสมัยคะมะกุระมากขึ้นโดยเน้นไปที่บทบาทของราชสำนักที่เกียวโต ซึ่งเป็นฐานอำนาจในการสร้างความชอบธรรมให้กับพวกนักรบ นอกจากนั้นยังมีการศึกษาประเด็นที่เกี่ยวกับพื้นฐานแนวคิดที่มีส่วนในการสร้างความชอบธรรมให้กับผู้นำนักรบในสมัยคะมะกุระ
ประเด็นการศึกษาในแต่ละช่วงจะมีปัจจัยที่มากำหนดหลากหลาย เช่น ปัจจัยจากการปฏิรูปเมจิ ปัจจัยจากการยึดครองของสหรัฐอเมริกา ปัจจัยจากพัฒนาการทางการศึกษา และปัจจัยจากการเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่ได้ไปกระตุ้นให้นักวิชาการตะวันตกต้องการที่ศึกษาประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นมากขึ้น