สารนิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต ปี 2548
ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของกำแพงเมืองจีน
โดย สิทธิศักดิ์ รุ่งเจริญสุขศรี
ดาวน์โหลดได้ที่ https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:114188
บทคัดย่อ
สารนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาเพื่อให้ทราบถึงความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของกำแพงเมืองจีนที่ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์จีน จากผลการศึกษาพบว่าความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของกำแพงเมืองจีนมีการแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย กล่าวคือ
นอกเหนือจากการถูกสร้างขึ้นเพื่อป้องกันอาณาจักรการรุกรานจากชนเผ่าเร่ร่อนทาง-เหนือ กำแพงเมืองจีนยังถูกใช้เป็นฐานที่มั่นสำคัญในการขยายเขตแดนการปกครองของจีนรุกเข้าไปในดินแดนทางเหนือและทางตะวันตกซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าเร่ร่อนอีกด้วย การขยายเขตแดนของจีนรุกเข้าไปในดินแดนของชนเผ่าเร่ร่อนโดยอาศัยกำแพงเมืองจีนเป็นฐานที่มั่นได้กลายเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การรวมตัวกันของชนเผ่าเร่ร่อนเพื่อตอบโต้การคุกคามของจีน
เมื่อเช้าสู่สมัยราชวงศ์ชิง (Qing, 1644-1911) แม้กำแพงเมืองจีนจะถูกทอดทิ้งไม่ได้ใช้ประโยชน์เพื่อป้องกัน หรือขยายเขตแดนของอาณาจักรอีกต่อไป แต่ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของกำแพงเมืองจีนก็มิได้สิ้นสุดลงแต่ประการใด ภายใต้การผลักดันของชาวตะวันตกที่ได้มีโอกาสมาเยือนกำแพงเมืองจีนนับตั้งแต่ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 กำแพงเมืองจีนได้ถูกทำให้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ขึ้นมาอีกครั้งในฐานะที่เป็น 1 ใน 7 สิ่งก่อสร้างมหัศจรรย์ของอารยธรรมโลกยุคโบราณ และบรรดาผู้นำชาตินิยมในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็เลือกที่จะนำกำแพงเมืองจีนไปใช้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวจีนในการต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมรวมไปถึงการเชิดชูให้เป็นสัญลักษณ์ของประเทศเพื่อให้ชาวจีนหันมาภาคภูมิใจในอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ในอดีตของตนนอกจากนี้แล้วเมื่อนักวิชาการในยุคปัจจุบันย้อนกลับไปทำการศึกษาถึงประวัติความเป็นมาของกำแพงเมืองจีน และความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับชนเผ่าเร่ร่อนในอดีต กำแพงเมืองจีนยังถูกมองว่าเป็นเส้นแบ่งเขตแดนทางวัฒนธรรมระหว่างกลุ่มคนทั้งสองอีกด้วย ความหมายของการเป็นเส้นแบ่งเขตแดนทางวัฒนธรรมของกำแพงเมืองจีน คือ การเป็นเส้นแบ่งแยกวัฒนธรรมการเกษตรของจีนซึ่ง มีความชำนาญในการจัดทรัพยากรน้ำและมีถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ออกจากบรรดาชนเผ่าเร่-ร่อนซึ่งมีแบบแผนในการดำรงชีพแบบร่อนเร่และขึ้นอยู่กับการเลี้ยงฝูงปศุสัตว์
ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของกำแพงเมืองจีนที่ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์จีนจึง มิได้มีสถานะเป็นเพียงแค่สิ่งก่อสร้างเท่านั้น แต่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงประวัติความเป็นไปอันยาวนานกว่า 2 พันปีของอารยธรรมจีนได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นนโยบายทางการเมืองในการป้องกันอาณาจักร และรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับชนเผ่าเร่ร่อนในอดีต รวมไปถึงการถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการการสร้างความรู้สึกชาตินิยมในยุคปัจจุบันอีกด้วย