อำนาจและเครือข่ายท้องถิ่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549

โดย ผศ. ศุทธิกานต์ มีจั่น

ดำเนินรายการโดย อ.ดร.ตามไท ดิลกวิทยรัตน์

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 เวลา 13.00-16.00 น.

สรุปโดย วิราวรรณ นฤปิติ

ที่ผ่านมา นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ที่ศึกษาการเมืองไทยมักจะกล่าวถึงเครือข่ายทางการเมือง ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ทำความเข้าใจการเมืองไทยได้ดีมากขึ้น แต่ทว่ายังมีงานวิชาการน้อยชิ้นที่กล่าวถึงเครือข่ายทางการเมืองในฐานะหน่วยของการศึกษาทางวิชาการ เนื่องจากต้องอาศัยการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเชิงลึกเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเครือข่ายทางการเมืองในฐานะหน่วยของการศึกษายังเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลาเนื่องจากมีปัจจัยที่เข้าไปส่งผลกระทบได้หลายทาง งานวิจัยของ ผศ. ศุทธิกานต์นี้จึงมีคุณูปการที่สำคัญมากสำหรับการทำความเข้าใจการเมืองหลังพ.ศ. 2549 เป็นต้นมา

งานวิจัยแบ่งกรอบเวลาออกเป็นสามช่วง ได้แก่ ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 ระหว่างใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 และหลังรัฐประหารปี 2549 นอกจากการเมืองระดับท้องถิ่นแล้วยังทำให้มองเห็นภาพความเปลี่ยนแปลงสำคัญในการเมืองระดับชาติของไทยด้วย จากเดิมก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เรามีรัฐราชการที่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ศูนย์กลางและมีอำนาจมาก ในขณะเดียวกันมันทำให้ภาคการเมืองอ่อนแอ จนกระทั่งมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ทำให้ภาคการเมืองเข้มแข็งขึ้นมา เกิดพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ทำให้ประชาชนส่วนภูมิภาคต่างๆ สามารถเข้าร่วมกำหนดชะตาการเมืองระดับชาติได้ผ่านการเลือกตั้ง เป็นการกระจายอำนาจบริหารไปยังท้องถิ่นทั่วประเทศ การเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 นี้ ยังสร้างวัฒนธรรมการเมืองขึ้นใหม่ คือการมีส่วนร่วมของประชาชน และกิจกรรมทางการเมืองผ่านการนำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองก็ถูกจัดสรรประโยชน์ต่อท้องถิ่นเป็นอย่างดี ในช่วงเวลานี้พรรคการเมืองเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญต่อเครือข่ายอำนาจระดับท้องถิ่นที่มีอยู่เดิม

จุดเปลี่ยนที่สำคัญเกิดขึ้นเมื่อมีการทำรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ในภาพรวมที่สำคัญคือองค์กรราชการกลับเข้ามามีบทบาทในการเมือง ได้แก่ กองทัพ กลายเป็นผู้มีบทบาททั้งรักษาความสงบและกุมอำนาจงานบริหาร เรียกได้ว่าเป็นการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางแบบรัฐราชการได้อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เครือข่ายอำนาจการเมืองท้องถิ่นมีปฏิกิริยาที่น่าสนใจยิ่ง พวกเขาทั้งไม่แสดงอาการต่อต้านแต่กลับปรับตัวเข้ากับการเมืองหลังรัฐประหารได้อย่างง่ายดาย โดยอาศัย ‘เครือข่าย’ ที่สร้างจากความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างกลุ่มผู้มีอำนาจท้องถิ่นกับข้าราชการ (ทหาร ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ฯลฯ) พวกเขาไม่กังวลต่อการกระจายทรัพยากรลงสู่พื้นที่ อีกทั้งยังมองว่าสะดวกมากกว่าทำงานผ่านพรรคการเมืองเสียด้วยซ้ำ!

เสียดินแดนในแบบเรียนไทย สมัยรัชกาลที่ 5 ถึง พ.ศ.2487

โดย อ.ดร.วาสิฏฐี ชัยขันธ์ 

ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.จุฬาพร เอื้อรักสกุล

สรุปโดย วิราวรรณ นฤปิติ

          สมัยรัชกาลที่ 5 แบบเรียนซึ่งมีผู้แต่งเป็นชาวต่างชาติหรือชาวไทยที่ได้รับการศึกษาจากเมืองนอก ส่วนมากบรรจุความรู้ทางภูมิศาสตร์ พงศาวดาร การอ่านแผนที่ แต่ยังไม่มีวิชาประวัติศาสตร์และยังไม่มีการอธิบายเรื่องเสียดินแดน จนกระทั่ง ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2446)  ฝรั่งเศสนำเรือรบเข้ามารุกรานยังแม่น้ำเจ้าพระยา แบบเรียนจึงถูกปรับเปลี่ยนให้มีการสอนเรื่องเสียดินแดนในเวลาต่อมาคือราวทศวรรษ 2460 องค์ความรู้เรื่องเสียดินแดนถูกบรรจุไว้พร้อมกับวิชาประวัติศาสตร์ไทยแบบราชอาณาจักร ที่เน้นพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของอาณาจักรโบราณมาตั้งแต่ยุคสุโขทัย ล้านนา อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ณ ช่วงเวลาหลังจากนี้ การศึกษาได้อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกระทรวงธรรมการ ซึ่งได้ตีพิมพ์แบบเรียนในลักษณะดังกล่าวและใช้สอนในโรงเรียนอย่างแพร่หลาย ผู้แต่งแบบเรียนได้แก่ครูชาวไทยที่แต่งตำราและส่งไปยังกระทรวงธรรมการเพื่อตรวจสอบ หากตำรานั้นได้รับการรับรองจากผู้ทรงคุณวุฒิก็จะได้รับการตีพิมพ์

          ราวทศวรรษที่ 2470 เป็นต้นมา แนวคิดเรื่องเสียดินแดนไม่ใช่เพียงแพร่หลายอยู่ในแวดวงการศึกษาเท่านั้น เนื่องจากมรดกของการศึกษาสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทำให้แนวคิดเรื่องเสียดินแดนแพร่กระจายไปยังคนทุกกลุ่มทุกชนชั้นที่ได้รับการศึกษาภาคปฐมจากรัฐ ในช่วงนี้มีการจัดพิมพ์แบบเรียนทั้งแบบเก่าและแบบปรับปรุงใหม่ขึ้นมาก องค์ความรู้เรื่องเสียดินแดนจึงแพร่ไปพร้อมกับองค์ความรู้ประวัติศาสตร์ไทย เพิ่มเติมด้วยรูปแบบการนำเสนอด้วยแผนที่ ยิ่งทำให้องค์ความรู้เป็นที่เข้าใจมากยิ่งขึ้นจากการทำให้องค์ความรู้มาอยู่ในรูปแบบภาพประกอบ หลัง พ.ศ. 2475 จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้ทำให้องค์ความรู้เรื่องเสียดินแดนอยู่ในพื้นที่ทางการเมือง มรดกตกทอดจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงไม่ได้ตายลงไปแต่กลับถูกปลุกขึ้นมารับใช้แนวทางชาตินิยมทางการทหารในสมัยต่อมา    

Page 10 of 16