โดย วิราวรรณ นฤปิติ 

ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์

สำนักพิมพ์ มติชน, 2560

ประเทศไทยรับพุทธศาสนาเถรวาทผ่านศรีลังกา ทั้งสองประเทศรับส่งหยิบยืมทั้ง จารีตและคัมภีร์ ศาสนากันไปมาอยู่ตลอดเวลา พุทธศาสนาลังกาวงศ์เข้ามาเฟื่องฟูในไทยผ่านทางอาณาจักรหริภุญไชยล้านนาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นเส้นสายที่ส่งอิทธิพลมาถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ผู้ฟื้นฟูพุทธศาสนาขึ้นในยุครัตนโกสินทร์ ศาสนาในอาณาจักรใหม่นี้จึงรับอิทธิพลคัมภีร์ภาษาบาลีจากศรีลังกาโดยตรง ซึ่งรวมไปถึงอรรถกถาคัมภีร์ ที่แต่งโดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ องค์ความรู้ที่ส่งอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงคือเรื่อง ปัญจอันตรทาน หรือความคิดที่ว่าเมื่อพุทธศาสนาล่วงมาถึง 5,000 ปี ศาสนาจะถึงการอันตรทานไป ศีลธรรมของผู้คนจะเสื่อม พระพุทธรูป วัดวาอาราม เจดีย์ จะพังลง ต่อมาความคิดนี้จะพัฒนามาเป็นพื้นฐานความคิดทางการเมืองที่สำคัญยิ่ง เมื่อ พ.ศ 2500 หรือปีพุทธชยันตี หรือปีกึ่งพุทธกาล ซึ่งส่งอิทธิพลไปยังประเทศที่นับถือพุทธศาสนาเถรวาททั้ง ลังกา พม่า ไทย ลาว กัมพูชา

ศาสนาและการเมือง สองสิ่งนี้เป็นพื้นฐานทางจารีตและการปฏิบัติของชนชั้นปกครองที่เป็นเนื้อเดียวกัน พระมหากษัตริย์ในพุทธศาสนาในฐานะจักรวาทิน หรือราชาผู้หมุนกงล้อธรรม จึงมีหน้าที่สนับสนุนการเผยแผ่และปกป้องศาสนาควบคู่ไปกับงานบริหารบ้านเมือง จึงเป็นที่มาของเหตุผลของการฟื้นฟูศาสนาขึ้นใหม่จากยุคก่อนหน้าที่เต็มไปด้วยความยุ่งเหยิงทางการเมืองของรัชกาลที่ 1 ทั้งการสังคายนาพุทธศาสนา แต่งตั้งคณะสงฆ์ใหม่ และเก็บรวบรวมพระพุทธรูป สร้างอาณาจักรศักดิ์สิทธิ์แห่งใหม่สำหรับพุทธศาสนา  

(ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง แนวคิดการรวบรวมพระพุทธรูปช่วงสร้างกรุงเทพฯ ถึงรัชกาลที่ 5. )